Wednesday, March 17, 2010

Unprecedented Data Usage

Unprecedented data usage เป็นคำที่ AT&T เรียกปัญหาปริมาณการใช้งาน data สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน (หรืออาจเรียก congestion, network choking, backhaul choking, ฯลฯ) ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทั้งโครงข่ายและลูกค้าของ AT&T เอง


พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ปัญหานั้นเกิดจากระดับความต้องการใช้งาน data ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในกรณีของ AT&T ปริมาณการใช้งาน data เพิ่มขึ้น 5,000 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี (2Q06-2Q09) ทำให้การ dimension network ที่วางแผนไว้ ทั้งในส่วน radio และ backhaul ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอซึ่งส่งผลให้ลูกค้าประสบกับปัญหา "เน็ตอืด" 


ปัญหาของ AT&T
จอห์น โดโนแวน CTO ของ AT&T บอกว่าการคาดการณ์ปริมาณการใช้ data แบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป  ("the traditional model for forecasting mobile data growth is dead") การวางแผนการขยายเครือข่ายเพื่อรับมือกับความต้องการใช้ data ในอนาคตต้องใช้ model ที่ซับซ้อนมากขึ้น คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ มากขึ้น พฤติกรรมการใช้งาน data ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ 1.) อุปกรณ์และ application ต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการด้าน data ของลูกค้าได้ดีขึ้น 2.) เทคโนโลยี 3G โดยเฉพาะ HSPA เอื้อให้ใช้งาน data ได้ดีขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง 3.) การคิดราคาแบบ unlimited usage และ flat rate ซึ่งนักวิเคราะห์เรียกว่า "all-you-can-eat" ส่งเสริมการใช้งาน data ของลูกค้าทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณการใช้งาน ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของปัญหา unprecedented data usage มักจะถูกมองว่าเกิดจากประเด็นด้านราคาเป็นหลัก  (ซึ่งแน่นอนว่า 2 ประเด็นแรกไม่ใช่ปัญหา) การคิดราคาแบบ unlimited / flat rate ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ 


อย่างไรก็ตามปัญหาทั้งหมดเกิดจากคนบางกลุ่มเท่านั้น ราฟ เดอ ลา เวก้า ประธานและ CEO ของ AT&T กล่าวว่า "ปริมาณ data traffic 40% เกิดจากกลุ่มลูกค้า smartphone เพียง 3% เท่านั้นเวก้ายังบอกอีกว่า "เรากำลังหาทางที่จะสร้าง แรงจูงใจ ให้ลูกค้ากลุ่มเล็กๆ นั้นลดการใช้งานหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งาน data เพื่อที่จะไม่รบกวนการใช้งานของลูกค้าคนอื่นที่อยู่ใน cell site เดียวกัน" นี่เหมือนเป็นสัญญาณที่จะบอกว่า ต่อไปนี้จะหมดยุคของการให้บริการแบบ all-you-can-eat แล้ว โดยทางออกหนึ่งที่เวก้าสนใจคือ "การกำหนดราคาที่สะท้อนการใช้งานจริง"

วิธีแก้ปัญหาของ AT&T
แนวทางการแก้ปัญหาด้านราคาเป็นเพียง หนึ่งในหลายแนวทางที่ AT&T ใช้แก้ปัญหานี้ ก่อนหน้านี้ AT&T ได้ประกาศอัพเกรดโครงข่ายให้รองรับความเร็ว 7.2 Mbps ใน 6 หัวเมืองใหญ่ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเมื่อต้นปียังประกาศเพิ่มงบลงทุนอีกสองพันล้านเหรียญสำหรับปี 2010 ในธุรกิจ mobile (wireless network และ backhaul) เมื่อเทียบกับปี 2009 นอกจากนี้ AT&T ยังใช้ Wi-Fi เข้ามาช่วย offload data traffic จาก 3G ตั้งแต่ AT&T เริ่มขาย iPhone (AT&T รายงานว่าจำนวนผู้ใช้งาน Wi-Fi เพิ่มขึ้น 3 เท่าในปีเดียว) โดยล่าสุดลูกค้า iPhone สามารถใช้ Wi-Fi hotspot ของ AT&T ได้ง่ายขึ้นด้วยซอฟแวร์ iPhone 3.0 แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายที่โดนคู่แข่งอย่าง Verizon ออกโฆษณาโจมตีเรื่องเครือข่าย 3G ที่ไม่ครอบคลุม

Operator อื่นๆ
กลับมาที่ unprecedented data usage เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ละ operator มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปก็ต้องขยาย capacity ของ network ทั้งในส่วน radio และ backhaul บางรายก็ใช้ Wi-Fi เพื่อ offload บางรายก็ใช้มาตรการทางด้านนโยบายหรือกฎหมายเ้ข้ามาช่วย O2 (สหราชอาณาจักร) ก็เป็นอีกรายที่ออกมายอมรับว่ามีปัญหาการใช้งาน data ในเครือข่าย โดยบอกว่า O2 จะลงทุนสร้างเครือข่ายเพิ่มอีก 1,500 สถานีภายในปี 2010 นี้ สำหรับ operator อื่นๆ ที่เชื่อในกลยุทธของ Wi-Fi ก็มีเช่น Telkom Austria,  softbank mobile อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางกลุ่มเห็นว่า Wi-Fi strategy ไม่ใช่อนาคตที่ยั่งยืน


แก้ปัญหาทางนโยบาย
Hong Kong CSL แก้ปัญหาโดยประกาศ Fair Usage Policy CSL ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กับ AT&T CSL บอกว่า ลูกค้าเพียงประมาณ 5% ใช้ bandwidth กว่า 50% ของโครงข่าย แต่วิธีแก้ปัญหาก็คือในเมื่อลูกค้าจำนวนน้อยๆ ใช้งานผิดประเภทเช่น load bit torrent ทำให้ลูกค้ารายอื่นได้รับผลกระทบ ก็แก้ปัญหาไปตรงๆ ก็คือไปบีบ bandwidth ของลูกค้าเหล่านั้นให้เหลือแค่ "พอใช้ได้" เพราะไม่ว่า CSL จะลงทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่ ลูกค้า 5% กลุ่มนี้ก็พร้อมจะใช้แบนด์วิดธ์ให้หมดไปจนลูกค้ารายอื่นใช้งานไม่ได้อยู่ดี... ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกค้าส่วนใหญ่ ถ้าใครไม่พอใจใน Fair Usage Policy ของ CSL ก็ไปฟ้อง สคบ. ไม่ก็ไปใช้เจ้าอื่น.

No comments:

Post a Comment