Friday, July 23, 2010

พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 80

ประเด็นการแปลงสัมปทานกำลังเป็นข่าวกันในหน้าหนังสือพิมพ์นำโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงไอซีที โดยตั้งเป้าว่าจะแปลงสัญญาสัปทานเป็นใบอนุญาตที่มีอายุ 15 ปี (เท่ากับอายุใบอนุญาต 3G ที่กำลังจะประมูล) และลดส่วนแบ่งรายได้เหลือ 12.5% (จากเดิมประมาณ 25%) การแปลงสัมปทานเป็นใบอนุญาตนั้นอาศัยความในมาตรา 80 (บทเฉพาะกาล) ของ พรบ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จึงนำมาลงไว้ให้พิจารณากันครับ ประเด็นก็คือเมื่อแปลงสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตแล้วอายุของใบอนุญาตจะเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัมปทานเดิม (AIS 2558, DTAC 2561, True Move 2556, DPC 2556) อันนี้เป็นโจทย์หินที่ทีมคณะทำงานต้องขบให้แตก

Thursday, July 8, 2010

AT&T โทษ Alcatel-Lucent ว่าทำให้อัพโหลดช้า


หลังจากมีข่าวผู้ใช้จำนวนมากรายงานว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตฝั่งอัพโหลดของ AT&T ตกลงต่ำกว่า 100kbps ตอนนี้ก็ถึงคิวที่ AT&T จะออกมาแถลงไขโดย AT&T อ้างว่าพบปัญหาจากซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์ของ Alcatel-Lucent ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี HSUPA (เช่น iPhone 4) มีปัญหาได้ความเร็วในการอัพโหลดต่ำ ซึ่งตอนนี้ AT&T ได้หาวิธีแก้ไขเป็นการเฉพาะหน้าไปแล้ว
ที่มา - Light Reading

Tuesday, July 6, 2010

กทช. ประกาศร่างหลักเกณฑ์ออกใบอนุญาต 3G ฉบับปรับปรุง


ล่าสุดวันที่ 5 ก.ค. กทช. ได้ประกาศร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz (ผู้ที่เคยอ่านร่างฯ มาก่อนแล้วสามารถดูข้อแตกต่างได้จากตารางสรุปการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งร่างนี้น่าจะเป็นฉบับสุดท้ายแล้ว โดย กทช. คาดว่าอีก 15 วัน จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

Friday, July 2, 2010

อินเดียจะเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพียง 3 ราย!


Sanjay Kapoor ซีอีโอของ Bharti Airtel ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย เชื่อว่าการลงทุนโครงข่าย 3G ราคาแพงจะทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาเพื่อความอยู่รอด และตลาดในระยะยาวจะเหลือผู้ให้บริการที่มีกำไรเพียง 3 ราย Kapoor ยังบอกอีกว่าการตั้งราคาในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ (แข่งกันลดราคามากเกินไป) ตอนนี้ผู้ให้บริการทุกรายต้องเริ่มมุ่งทำกำไรจากเงินที่ลงทุนไป (จ่ายค่าคลื่น 3G ไปเกือบห้าแสนล้านบาท) กดดันผู้ให้บริการราคาประหยัด (เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น) และผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการในตลาดทั้ง 14 ราย

อียูสั่งห้ามชาร์จค่าดาต้าโรมมิ่งเกิน 50 ยูโร โดยไม่ได้รับอนุญาต


ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปผู้ใช้บริการดาต้าโรมมิ่งในยุโรปจะถูกเรียกเก็บเงินไม่เกิน 50 ยูโร ถ้าเกินจากนี้จะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบและต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งก่อน
สหภาพยุโรป (อียู) ออกกฎดังกล่าวเพื่อปกป้องผู้บริโภคที่ไม่ค่อยสันทัดในเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ผู้ใช้บริการชาวเยอรมันเคยถูกเรียกเก็บเงินสูงถึง 46,000 ยูโร (เกือบสองล้านบาท) หลังจากดูทีวีผ่านมือถือในฝรั่งเศส นอกจากนี้ อียู ยังหวังว่าการออกกฎนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าบริการดาต้าโรมมิ่งในยุโรปถูกลง

Thursday, July 1, 2010

Femtocell ฟรีจาก SoftBank

SoftBank Mobile ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่นแจกสถานีฐานขนาดเล็กสำหรับใช้ในบ้านหรือที่เรารู้จักกันในนาม femtocell ให้ใช้ฟรีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ข่าวเก่า) ตอนนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่านอกจากจะให้อุปกรณ์ femtocell ฟรีแล้วยังให้ ADSL ฟรีอีกด้วย โดยต้องเซ็นสัญญา 2 ปี

บริการ femtocell ของ SoftBank จะใช้โหมด open access นั่นหมายความว่าเปิดให้ลูกค้าทั่วไปของ SoftBank ใช้ได้ด้วย แต่บริการ femtocell ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะให้บริการแบบ closed access คือให้บริการแก่ผู้ที่มาลงทะเบียนเท่านั้น (AT&T's 3G Microcell, Vodafone's Sure Signal)