นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ผู้อำนวยการวิจัยเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้งว่า ไม่เห็นด้วยที่กทช.จะประมูลใบไลเซ่นส์พร้อมกันทั้ง 4 ใบ เพราะไม่มีประเทศใดที่มีผู้ได้รับใบอนุญาต 3 จี มากกว่าระบบ 2 จีเดิม (ตัวอย่างเช่น โพสต์ทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552 หน้า B กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “การนำคลื่นย่านความถี่ 3 จี มาบริหาร ประชาชนได้รับประโยชน์จริงหรือ” จัดโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วันที่ 21 ต.ค. 2552)
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดคือ ประเทศที่ให้ใบอนุญาต 3G มากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ 2G ก็มีอยู่หลายประเทศ เช่น
สหราชอาณาจักร และไต้หวันเดิมมีผู้ประกอบการรายเดิม (incumbent) ที่ให้บริการ 2G เพียง 4 ราย แต่มีผู้ประกอบการ 3G ถึง 5 ราย คือนอกจากรายเดิมแล้วยังมีผู้ให้บริการ 3G เพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งราย นอร์เวย์ เดิมมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย แต่ออกใบอนุญาต 3G ถึง 4 ใบ ในช่วงแรกผู้ประกอบการรายใหม่ 2 รายต้องถอนตัวออกจากตลาดเนื่องจากประสบปัญหาด้านการลงทุน จนรัฐบาลต้องนำใบอนุญาตทั้ง 2 ใบที่เหลืออยู่มาประมูลใหม่ในปี 2003 และ 2006/2007 ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 4 ราย ญี่ปุ่นเดิมมี 3 รายและให้ใบอนุญาต 3G ในรอบแรก 3 ใบ ต่อมามีผู้ขอเปิดให้บริการ 3G เพิ่มอีก 1 รายรวมเป็น 4 ราย สเปน อิตาลีและออสเตรียมีผู้บริการ 3G เพิ่มอีก 1 รายจากเดิม 3 รายเป็น 4 ราย
แต่ทั้งนี้บางประเทศตั้งใจออกใบอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังไม่สำเร็จก็มี เช่น ฝรั่งเศสออกใบอนุญาต 3G 4 ใบ ทั้งที่มีผู้ประกอบการรายเดิมเพียง 3 ราย ปัจจุบันยังเหลือใบอนุญาตอีก 1 ใบที่รอการจัดสรร เยอรมันเดิมมีผู้ประกอบการ 2G 4 ราย แต่ออกใบอนุญาต 3G 6 ราย แต่ท้ายที่สุด 2 รายต้องคืนใบอนุญาต ทำให้มีผู้ให้บริการ 4 รายเท่าเดิม สิงคโปร์เดิมมี 3 ราย และตั้งใจจะออกใบอนุญาต 3G 4 ใบ แต่สุดท้ายมีผู้สนใจประมูลเพียง 3 รายเท่าเดิมการประมูลจึงล้มไป
เหล่านี้เป็นต้น การอ้างว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการออกใบอนุญาต 3G มากกว่าจำนวนผู้ประกอบการ 2G ที่มีอยู่เดิม จึงไม่ถูกต้องซะทีเดียว
No comments:
Post a Comment