รายละเอียดการจัดสรรคลื่นความถี่ในแต่ละย่านมีดังนี้
ย่าน 850/900 MHz
ย่านนี้ดูจะเป็นย่านที่มีปัญหามากที่สุดเพราะมีการทับซ้อนกันตั้งแต่ระดับผังความถี่วิทยุ การจัดสรรนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยยุคอนาล็อค (1G) โดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทีโอที ให้สัมปทานความถี่ย่าน 900 MHz แก่เอไอเอส เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT (1G) และต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น GSM (2G) ในขณะเดียวกันการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. ก็ได้ให้สัมปทานความถี่ย่าน 850 MHz แก่แทค (ภายหลังเปลี่ยนเป็นดีแทค) เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ AMPS (1G) และต่อมา กสท. ได้ร่วมทุนกับฮัทช์ใช้ความถี่อีกส่วนในย่านนี้ให้บริการโทรศัพท์ระบบ CDMA2000 มาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาก็คือ
- ย่าน 850 MHz และย่าน 900 MHz นั้นทับซ้อนกัน (ช่วง 880 MHz - 894 MHz)
- ย่าน 850 MHz เป็นมาตรฐานจากฝั่งอเมริกา ซึ่งในตลาดอเมริกาเองก็จะไม่มีการใช้งานย่าน 900 MHz
- ย่าน 900 MHz เป็นมาตรฐานจากฝั่งยุโรป ซึ่งในตลาดยุโรปเองก็จะไม่มีการใช้งานย่าน 850 MHz
- ประเทศไทยรับมาทั้งสองมาตรฐาน จึงทำให้ GSM900 ใช้งานจริงได้เพียงครึ่งแบนด์ (อีกครึ่งหนึ่งฝั่งอัพลิงค์ (UL) ทับซ้อนกับย่าน 850 MHz)
- การใช้งานย่าน 850 MHz ในฝั่งดาวน์ลิงค์ (ส่งสัญญาณด้วยกำลังส่งสูง จากสถานีฐานสู่มือถือ) จะทำให้เกิดการรบกวนในย่าน 900 MHz ในฝั่งอัพลิงค์ (ส่งสัญญาณกำลังต่ำจากมือถือสู่สถานีฐาน)
ความถี่ในย่าน 900 MHz นั้นถือเป็นความถี่หลักสำหรับการให้บริการ GSM ทั่วโลก ซึ่งความถี่ในย่านนี้มีคุณสมบัติในการแพร่กระจาย (propagation) และการทะลุทะลวง (penetration) ที่ดีกว่าย่าน 1800 MHz (ความถี่ยิ่งต่ำ ยิ่งดี) ในกรณีที่เป็นพี้นที่โล่งกว้างเช่นในเขตชนบท สถานีฐานที่ใช้ความถี่ย่าน 900 MHz สถานีเดียวสามารถครอบคลุมพื้นได้เท่ากับสถานีฐานย่าน 1800 MHz ถึง 3-4 สถานี ทำให้การลุงทุนเครือข่ายแตกต่างกันอย่างมีนัยยะ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีเพียงเอไอเอสเท่านั้นที่สามารถให้บริการ GSM ในย่าน 900 MHz ได้
ย่าน 1800 MHz
การจัดสรรความถี่ในย่าน 1800 MHz นั้น ประเทศไทยอิงตามมาตรฐานจากฝั่งยุโรป (โชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้ย่าน 1900 MHz ตามอย่างอเมริกาซึ่งซ้อนทับกับย่าน 1800 MHz ด้วย) โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ให้สัมปทานความถี่ทั้งย่านแก่ดีแทคเพื่อให้บริการ GSM และต่อมาได้มีการจัดสรรคลื่นบางส่วนให้กับ WCS (ภายหลังเป็นทรูมูฟ) และ DPC (บริษัทลูกของเอไอเอส) ทั้งสองบริษัทได้รับส่วนแบ่งคลื่นความถี่เพียงรายละ 2x12.6 MHz ซึ่งเมื่อเทียบกับดีแทคซึ่งได้ 2x49.6 MHz หรือราว 4 เท่า จะเห็นได้ว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน จำนวนช่องสัญญาณที่มากกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การให้บริการ GPRS/EDGE ของดีแทคเร็วกว่าของเจ้าอื่น
สัมปทานของดีแทคจะหมดอายุในปี 2561 ในขณะที่สัมปทานของทรูมูฟและดีพีซีกำลังจะหมดอายุในปี 2556 เท่านั้น (ต่างกัน 5 ปี) ระยะเวลาสัมปทานที่สั้นกว่าทำให้เอไอเอสเริ่มยุติการลงทุนในดีพีซี แต่หันไปลงทุนในย่าน 900 MHz ของเอไอเอสเองซึ่งสัมปทานจะหมดอายุปี 2558 แทน ส่วนทรูมูฟเนื่องจากไม่มีความถี่อื่นให้ใช้นอกจากย่าน 1800 MHz นี้จึงไม่มีทางเลือกนอกจากรับความเสี่ยงในการลงทุนต่อไปแม้ว่าสัญญาสัมปทานจะเหลืออายุอีกเพียงไม่กี่ปี
ย่าน 2100 MHz
ย่าน 2100 MHz เป็นความถี่หลักในการให้บริการ 3G ระบบ UMTS ที่มีใช้กันแพร่หลายในโลก มีไม่กี่ประเทศ (เช่นสหรัฐอเมริกา) ที่ไม่ได้ให้บริการ 3G ในย่านนี้ โทรศัพท์ 3G แทบทุกรุ่นจะรองรับความถี่หลักย่านนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการ 3G/UMTS ในย่านนี้แล้วคือทีโอทีและกำลังจะเปิดประมูลใบอนุญาตใหม่อีก 3 ราย รวมเป็นทั้งหมด 4 ราย ทีโอทีได้เปิดให้บริการ 3G ไปตั้งแต่ปลายปี 2552 ด้วยความกว้างช่องสัญญาณขนาด 2x15 MHz การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ยึดหลักความเท่าเทียมในการแข่งขันโดยใบอนุญาตแต่ละใบก็ให้สิทธิเท่ากับที่ทีโอทีได้ไปคือ 2x15 MHz และใบอนุญาตทุกจะมีอายุเท่ากันคือ 15 ปี
หลักความเท่าเทียมกันในการแข่งขันถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคม การจัดสรรความถี่ในย่าน 850 / 900 / 1800 MHz เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันนั้นแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ การจัดสรรความถี่ใหม่นี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การใช้ความถี่ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดสัญญาณรบกวน (interference) และแก้ไขปัญหาการใช้คลื่นความถี่ทับซ้อนกัน ในอนาคตระยะยาวความถี่เหล่านี้จะไม่ได้หมดไปพร้อมกับเทคโนโลยี GSM เท่านั้นแต่เมื่อมีเทคโนโลยีโทรคมนาคมใหม่เกิดขึ้นความถี่เหล่านี้ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีก ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปกำลังพิจารณาแผนการนำความถี่ย่าน 900 MHz มาให้บริการ 3G
แนวทางการวางแผนความถี่ในระยะยาว
หากตั้งสมมุติฐานว่าในระยะยาวประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการ 5 ราย เราอาจตั้ง "เป้าหมาย" แผนการใช้คลื่นความถี่อย่างเท่าเทียมกันได้ดังนี้
ผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้รับคลื่นความถี่ในย่าน 900 MHz รายละ 2x7 MHz และคลื่นความถี่ในย่าน 1800 MHz อีกรายละ 2x15 MHz โดยที่ กสท. จะยังคงใช้ความถี่ขนาด 2x10 MHz ในย่าน 850 MHz ได้ต่อไป (เนื่องจาก กสท. ไม่มีส่วนแบ่งในย่าน 2100 MHz) ในขั้นต้น กสท. อาจจะยังคงใช้ย่าน 850 MHz ได้ แต่ในระยะยาวการใช้งานคลื่นความถี่ในย่าน 850 MHz จะค่อยๆ ลดลงและประเทศไทยจะสามารถใช้งานคลื่นความถี่ในย่าน 900 MHz ได้เต็มที่เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ช่วยให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ในราคาที่ถูกลง อย่างไรก็ดีแผนความถี่ดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว (ราว 5 - 10 ปี) การที่จะดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย
ผลประโยชน์ต้องลงตัว
การจัดการผลประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายให้ลงตัวเป็นกุญแจสำคัญที่จะประสบความสำเร็จ
กสท. และ ทีโอที
- ประโยชน์ ได้ครอบครองความถี่ในย่าน 900 / 1800 MHz จากที่ไม่เคยมีเลยซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจ 2G/3G ของแต่ละรายทั้งในแง่ความครอบคลุมและความจุช่องสัญญาณ ทั้งยังเป็นทางเลือกในการลงทุน 3G และเมื่อมีการแปลงสัมปทานเป็นใบอนุญาตแล้ว อาจได้เงินค่าเช่าใช้โครงข่ายซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเนื่องมาจากสัมปทาน
- แลกกับ การแปลงสัญญาสัมปทาน และ/หรือ ทรัพย์สินจากสัมปทาน และ/หรือ เงินชดเชย
- ประโยชน์ ได้ใช้ความถี่ต่ำย่าน 900 MHz ลดการลงทุน 2G ในต่างจังหวัด/รองรับ 3G ในอนาคต ความถี่ในย่าน 1800 MHz เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการแปลงสัมปทานขยายระยะเวลาการลงทุน
- แลกกับ เงินชดเชย
- ประโยชน์ ได้ใช้ความถี่ต่ำย่าน 900 MHz ลดการลงทุน 2G ในต่างจังหวัด/รองรับ 3G ในอนาคต และการแปลงสัมปทานขยายระยะเวลาการลงทุน
- แลกกับ ความถี่ในย่าน 1800 MHz ที่ลดลง (และเงินชดเชย)
- ประโยชน์ การแปลงสัมปทานขยายระยะเวลาการลงทุน และความถี่ย่าน 1800 MHz ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- แลกกับ ความถี่ย่าน 900 ที่ลดลง (และเงินชดเชย)
แต่จะให้ผู้ประกอบการตกลงกันเองเห็นจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้น กทช. อาจใช้เงื่อนไขการคืนคลื่นความถี่เก่า (ข้อ 9.4 Spectrum Cap) เป็นเครื่องมือนำความถี่กลับมาจัดสรรใหม่ โดยผู้ประกอบการต้องคืนสิทธิการใช้ความถี่กลับไปยังหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลังและกระทรวงไอซีทีก็เดินเกมแปรสัมปทานและออกคำสั่งเชิงนโยบายให้ทีโอที และ กสท. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล พิจารณาขนาดคลื่นความถี่ที่ "เหมาะสม" และเท่าเทียมกันให้คืนให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยให้สอดคล้องกับแผนข้างต้น
แผนนี้อาจใช้เวลาหลายปีและอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งผลสำเร็จยังไม่อาจคาดหวังได้ จึงได้แต่เพียงเสนอให้เป็นทางออกของอุตสาหกรรมและเพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า
No comments:
Post a Comment