Wednesday, July 15, 2009

กทช.เดินหน้าเปิดประมูล"ไวแมกซ์" ชูใบอนุญาต2แบบ"ทั่วปท.-เฉพาะภูมิภาค"ก.ย.นี้

กทช.เตรียมสรุปประเด็น Wi-Max ก่อนเตรียมคิกออฟประมูลความถี่กันยายนนี้ ยังไม่เคลียร์จะจัดสรรความถี่อะไร มูลค่าเท่าไหร่ และเป็นใบอนุญาตทั่วประเทศหรือแยกตามภูมิภาคดี ด้านคณะกรรมการ Wireless Broadband แนะให้ทั้ง 2 แบบ ให้ครอบคลุมทั้งในเมืองและชนบท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทช.ยังมีประเด็นนโยบายที่ต้องตัดสินใจหลายประเด็นได้แก่ 1.คือจะจัดสรรความถี่สำหรับใช้งานในย่านใด ซึ่งขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าความถี่ 2.3 และ 2.4 GHz สามารถจัดสรรได้เพราะประเทศไทยยังมีแบนด์วิดท์เหลืออยู่และจะไม่เกิดการรบกวนความถี่กัน แต่สำหรับย่านความถี่ 2.5-2.6 GHz ยังมีปัญหาอยู่เนื่องจากเป็นย่านที่นำไปใช้งานกับเทคโนโลยี LTE ได้ด้วย

ประเด็นที่ 2 ยังไม่มีการคำนวณมูลค่าความถี่ โดยข้อมูลที่ กทช.มีอยู่เป็นมูลค่าความถี่ในส่วนของ 3G ที่มีการประกวดราคาในต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องคำนวณหามูลค่าของความถี่ Wi-Max ว่าควรมีมูลค่าเท่าใด เพราะถึงแม้จะไม่สูงเท่าความถี่สำหรับ 3G แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปใช้ประกอบธุรกิจได้และยังมีโอกาสนำไปใช้กับเทคโนโลยี LTE ในอนาคตได้ที่ย่านความถี่ 3.5 GHz

ประเด็นที่ 3 คือจะออกใบอนุญาตในลักษณะทั่วประเทศหรือแบ่งตามภูมิภาค ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการให้ใบอนุญาตแยกตามภูมิภาคเพราะหากให้บริการเสียงและมีการโทร.ข้ามเขตก็จะมีต้นทุนการโรมมิ่งหรือค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเกิดขึ้น รวมทั้งต้องมีการเสียภาษีที่เกิดจากรายได้ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการใช้บริการสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนเงื่อนไขการติดตั้งโครงข่ายนั้น กทช.จะให้ครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากรเนื่องจากผู้ประกอบการสามารถสร้างโครงข่ายในเขตพื้นที่ชุมชนและให้บริการได้ครอบคลุมเกือบทั้งหมด แต่ก็อาจมีปัญหาการติดตั้งโครงข่ายในพื้นที่ป่าเขาหรือพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่งในทะเลได้

"ต้นทุนการติดตั้งโครงข่าย Wi-Max จะถูกกว่า 3G ครึ่งหนึ่งเพราะจำนวน cell site ที่ต้องติดตั้งน้อยกว่า เมื่อต้นทุนถูกกว่าการให้บริการแก่ประชาชนย่อมราคาถูกกว่าแน่นอน ที่สำคัญคือจะทำให้ Internet Coverage กระจายได้เร็วขึ้น เราพยายามจะให้เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ ซึ่งในท้องถิ่นทุรกันดารที่สายโทรศัพท์เข้าไปไม่ถึง Wi-Max ก็จะเป็นตัวที่เข้าไปตอบสนองในจุดนั้นได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 สำนักงาน กทช.จะจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องร่างแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ International Mobile Telecommunications (IMT) และกิจการ Broadband Wireless Access (BWA)
source: ประชาชาติธุรกิจ

No comments:

Post a Comment