Friday, June 4, 2010

กทช. เดินเครื่อง 3.9G เต็มกำลัง!

กทช. เร่งผลักดันให้ออกใบอนุญาต 3.9G เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ปลายเดือนนี้ เริ่มประมูลเดือน ส.ค. เสร็จสิ้น ก.ย. หวังให้ได้ใช้กันภายในปีนี้

วันที่ 26 พ.ค. 2553 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และประธานคณะทำงาน 3.9 จี เริ่มให้ความชัดเจนว่าการประมูลใบอนุญาตจะเสร็จสิ้นประมาณเดือน ก.ย. ปีนี้และคาดว่าคนไทยจะได้ใช้บริการดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นแบบโฟกัสกรุ๊ปไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นคณะทำงาน 3.9 จีก็จะนำข้อสรุปที่ได้จากโฟกัสกรุ๊ปเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กทช. ในวันที่ 4-5 มิ.ย. นี้ (วันนี้) โดยมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนจากเดิมให้ใบอนุญาต 4 ใบ (2x10MHz 3 ใบและ 2x15MHz 1 ใบ) เป็นให้ใบอนุญาต 3 ใบ ทุกใบเท่ากันหมดคือ 2x15MHz เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบในการให้บริการและสอดคล้องกับจำนวนคลื่นความถี่ที่ทีโอทีได้รับไปก่อนหน้านี้ ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปีเท่าเดิม นอกจากนั้นยังมีนโยบายส่งเสริม MVNO และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (infrastructure sharing) โดยการออกใบอนุญาตจะยังคงใช้วิธีประมูลแบบ SMR ตามเดิม โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก (pre-qualification) โดยถ้ามีผู้ที่ผ่าน pre-qualification 3 รายจะมีผู้ชนะการประมูลเพียง 2 ราย แต่ถ้ามีผู้ผ่าน pre-qualification ตั้งแต่ 4 รายขึ้นไปจะมีผู้ชนะประมูล 3 ราย (ข้อนี้ทำให้ True Move ร้อนๆ หนาวๆ) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน



มีข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า กทช. เตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้ง (และคาดว่าคงเป็นครั้งสุดท้าย) สำหรับผู้สนใจทั่วไปในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ และคาดว่าจะเริ่มประมูลกันได้ประมาณเดือน ส.ค. และน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. (คณะกรรมการ กทช. อีก 3 ท่านรวมทั้งประธานกรรมการฯ คนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระเืดือน ต.ค. นี้) คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะเริ่มเปิดให้ใช้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า

สำหรับราคานั้นคาดการณ์กันว่าจะเริ่มต้นที่ใบละ 10,000 ล้านบาท (reserved price) ตามที่ พ.อ. นที ได้ออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้ โดยที่คิดจากมูลค่าของคลื่นที่ประเมินไว้ที่ 12,000 ล้านบาทและคิด reserved price ที่ 80% ของมูลค่าคลื่น

ค่าคลื่นหมื่นล้านแพงไหม?
ปรกติการที่จะเปรียบเทียบค่าคลื่นต้องแปลงให้อยู่ในรูปของ ราคาต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อหัว (price/MHz/population) เสียก่อนเพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ ของไทยถ้าคิดว่าจบที่ใบละ 12,000 ล้านบาท จะได้ประมาณ 6.3 บาทต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อหัว ซึ่งเท่ากับการประมูลคลื่นที่เยอรมันที่เพิ่งจบไปเร็วๆ นี้ แต่อย่าลืมว่าค่าครองชีพของเยอรมันกับไทยนั้นต่างกันมาก... แต่ถ้าจะสรุปว่ามันแพงไปก็ต้องไปดูที่อินเดียก่อน ที่อินเดียเค้าประมูลแยกตามแต่ละพื้นที่ พื้นที่ที่แพงที่สุดอยู่ที่เมืองเดลี โดยได้ตัวเลขออกมาอยู่ที่ประมาณ 133.75 บาทต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อหัว ส่วนพื้นที่ที่ถูกที่สุดอยู่ที่พื้นที่ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียตกอยู่ที่ประมาณ 0.83 บาทต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อหัว การจะบอกว่าราคาคลื่นของไทยถูกหรือแพงมันบอกยาก แต่ถ้าบอกว่าตอนนี้เอไอเอสจ่ายค่าสัมปทานอยู่ "ปีละ" กว่า 25,000 ล้านบาท... การจ่ายเพียง 12,000 ล้านบาทสำหรับใบอนุญาต 15 ปีนั้นถือว่าถูกสุดๆ !

กทช. หรือ กสทช.?
พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ หรือ พรบ. กสทช. ตอนนี้มีความคืบหน้าตามลำดับโดยเพิ่งผ่านการพิจารณาของ ส.ว. แล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ต่อจากนี้ก็ต้องส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับร่างของ ส.ว.โดยต้องรอเปิดสมัยประชุมสภาเดือน ส.ค. และคาดการณ์กันว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย. นี้ (ถ้า ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ของ ส.ว. ก็จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธการร่วม ซึ่งเรื่องยาวครับ) หลังจากนั้นค่อยประกาศเป็นกฎหมายต่อไปและรออีก 180 วันเพื่อสรรหาคณะกรรมการ กสทช. จะเห็นว่าการได้มาซึ่งคณะกรรมการ กสทช. ยังอีกยาวไกลซึ่งต้องรอถึงประมาณกลางปี 2554 เป็นอย่างเร็ว ถึงจะได้เริ่มพิจารณาการออกใบอนุญาต 3G ดังนั้นความน่าจะเป็นที่ใบอนุญาตจะออกได้ในคณะกรรมการ กทช. ชุดปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้สูงเพราะมีความชัดเจน เป็นรูปเป็นร่างมากแล้ว และผลตอบรับก็ค่อนข้างดี ที่สำคัญใน พรบ. กสทช. ก็ยังระบุในบทเฉพาะกาลว่าระหว่างที่ยังไม่มี กสทช. ก็ให้อำนาจ กทช. ในการจัดสรรคลื่นไปพลางก่อนได้ (ใครมีร่าง พรบ. นี้ให้อ่านบ้างครับ?)

3G หรือ 3.9G?
3.9G เป็นชื่อเล่นที่มักใช้เรียกเทคโนโลยี LTE (ITU นิยามเพียง 1G, 2G, 3G เท่านั้น ส่วน 4G นิยามแล้วแต่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ) แต่ที่ พ.อ. นที อ้าง 3.9G น่าจะหมายถึงเทคโนโลยี HSPA+ มากกว่า แต่อย่ามัวสับสนตัวเลขเลยครับเพราะถึงอย่างไรก็เป็นเพียงชื่อเล่นไม่จำเป็นต้องถือเป็นสาระ ต้องดูที่ใบอนุญาตว่าระบุอย่างไร ในเบื้องต้นระบุว่า 1. เป็นเทคโนโลยี IMT หรือ 3G and beyond (ผู้ให้บริการสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้) 2. ต้องความเร็ว downlink ขั้นต่ำที่ 512 kbps (HSDPA ขึ้นไป) 3. ใช้ความถี่ย่าน 2.1GHz (ยังไม่มีอุปกรณ์ LTE ที่ย่านนี้) 4. พ.อ. นที ระบุว่าความเร็วสูงสุดถึง 42Mbps (ตรงกับสเปคของ HSPA+)

ผมเข้าใจว่าการเลือกที่จะเรียกว่า 3.9G เพื่อสื่อให้เข้าใจว่าเป็นบริการใหม่ แม้ว่าการออกใบอนุญาตจะติดขัดล่าช้ามาเนิ่นนานแต่ก็สามารถที่จะให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เลย ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ... แม้จะสับสนสักหน่อย แต่ก็ถือว่าทำให้ประชาชนในวงกว้างมอง 3G อย่างมีความหวังมากขึ้นครับ

ที่มา - โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ประชาชาติธุรกิจ

No comments:

Post a Comment