Thursday, June 10, 2010

3.9G คืออะไร?

เป็นที่ถกเถียงกันมากตั้งแต่  พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกมาให้ข่าวการออกใบอนุญาต 3.9G (แทนที่จะเป็น 3G) ว่าตัวเลข 3.9G คืออะไร? ใช้เทคโนโลยีอะไร? และที่สำคัญต่างกับ 3G อย่างไร?



3.9G นั้นเป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เหมือนอย่างที่เราเรียก GPRS ว่า 2.5G และ HSDPA ว่า 3.5G ตัวเลขเหล่านี้ถือเป็น 'ชื่อเล่น' เท่านั้น ถ้าถาม ITU ผู้กำหนดมาตรฐานทางโทรคมนาคม ตอนนี้เห็นจะมีเพียง 1G, 2G, 3G เท่านั้นที่มีการรับรองอย่า่งเป็นทางการ ส่วน 4G กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อรับรองเทคโนโลยี เรื่องราวการแบ่งเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกเป็นยุคๆ นี้สามารถอ่านได้จาก Wikipedia - History of Mobile Phones โทรศัพท์ในยุคแรก (1G) คือระบบอนาล็อก เริ่มแพร่หลายราวปี 1980s ที่รู้จักกันดีคือเทคโนโลยี NMT จากฝั่งยุโรปและ AMPS จากฝั่งอเมริกา โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่สอง (2G) เป็นระบบดิจิตอล เริ่มเข้ามาในปี 1990s มีเทคโนโลยีที่เรารู้จักกันดีคือ GSM (ปัจจุบันให้บริการโดย AIS, DTAC, และ True Move) และ CDMA (ให้บริการโดย Hutch และ CAT) ในค่ายของ GSM นั้นมีการพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานรับส่งข้อมูลแบบ packet switching โดยเพิ่มเทคโนโลยี GPRS (2.5G) เข้ามา และต่อมาก็พัฒนาไปเป็น EDGE (2.75G) ในระหว่างนั้นเอง ITU ก็เริ่มพัฒนามาตรฐานสำหรับ 3G โดยให้ชื่อว่า IMT-2000 เน้นความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงที่เหนือกว่า 2G ปี 1999 IMT-2000 ได้รับรองเทคโนโลยี 5 ชนิดว่าเป็นเทคโนโลยี 3G คือ IMT-DS (WCDMA), IMT-MC (CDMA2000), IMT-TC (TD-SCDMA และ UTRA-TDD), IMT-SC (Evolved EDGE), และ IMT-FT (DECT โทรศัพท์บ้านแบบไร้สาย)



ต่อมาในปี 2007 ก็ได้รวมมาตรฐาน IP-OFDMA (IEEE 802.16 หรือ WiMAX) เข้าไปใน IMT-2000 ด้วย ทำให้ WiMAX เป็นเทคโนโลยี 3G ด้วยเช่นกัน

ในค่ายของ GSM นั้นการที่จะพัฒนาไป 3G หนีไม่พ้นเทคโนโลยี UMTS ซึ่งใช้ air interface เป็น WCDMA (UMTS เป็นชื่อของระบบใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีที่ใช้รับ-ส่งสัญญาณผ่านอากาศเรียกว่า WCDMA) เรามักเรียก WCDMA ว่าเป็น 3G และมีเทคโนโลยีต่อยอดเช่น HSDPA (3.5G) และ HSUPA (3.75G) หรือเรียกรวมว่า HSPA เมื่อจะพัฒนาต่อไปให้ได้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงขึ้น มีการเสนอให้เปลี่ยนจากเทคโนโลยีพื้นฐานจาก CDMA มาเป็น OFDMA ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นเทคโนโลยี LTE (3.9G) โดยในระยะหลังมักมีคนเอา LTE มาโฆษณาว่าเป็นเทคโนโลยี 4G ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง ในระหว่างที่ LTE ออกมานั้น HSPA ก็ยังคงพัฒนาต่อไปเรียกว่า HSPA+ มีข้อดีคือสามารถอัพเกรดมาเป็น HSPA+ ง่ายกว่าและถูกกว่า LTE แต่ประสิทธิภาพไม่ได้เหนือไปกว่า LTE บางที HSPA+ ก็ถูกเรียกว่า 3.8G หรือไม่ก็ 3.85G (เนื่่องจากมีหลายเวอร์ชั่นและเพื่อไม่ให้ตัวเลขสูงกว่า 3.9G ของ LTE) โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยมีคนเรียก 3.8G/3.85G แต่จะเรียก HSPA+ ตรงๆ ไปเลย


ปี 2008 ITU ประกาศรายละเอียดมาตรฐาน 4G ในชื่อของ IMT-Advanced โดยคร่าวๆ สามารถรองรับความเร็วการดาวน์โหลดที่ 1 Gbps เมื่ออยู่กับที่ และ 100 Mbps เมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง จะเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวหินจริงๆ และแน่นอนว่ายังไม่มีเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรองรับได้ เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาไปสู่ 4G มีอยู่ 2 ค่ายคือ LTE-Advanced และ WiMAX IEEE 802.16m







ผมเข้าใจว่าที่ พ.อ. นที อ้างถึง 3.9G นั้นหมายถึง HSPA+ (มากกว่าที่จะหมายถึง LTE) เนื่องจากในเนื้อข่าวยังอ้างถึงความถี่ย่าน 2.1GHz (LTE ให้บริการในย่านนี้ไม่ได้) และ downlink speed ที่ 42 Mbps ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถของ HSPA+ อย่างไรก็ดี กทช. มีแนวโน้มที่จะระบุในเงื่อนใขใบอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาต เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (technology neutrality policy) เพื่อให้บริการโดยมักระบุว่าเป็น "IMT หรือ 3G and beyond" ดังนั้นการตีความว่า 3.9G คืออะไรจึงไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ 3.9G ที่ พ.อ. นที ใช้นั้นเพื่อมุ่งให้ประชาชนทั่วไปเห็นประโยชน์ว่าเมื่อประมูลความถี่ไปแล้ว สามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เลยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปลงทุนในเทคโนโลยีล้าหลัง คำว่า 3.9G ยังเป็นคำศัพท์ (buzz word) ที่ทำให้รู้สึกว่า กทช. ได้ให้อะไรใหม่ๆ กับสังคมแม้ว่าการประมูล 3G จะล่าช้ามานานแล้วก็ตาม

2 comments:

  1. ได้ความรุ้มากเลยครับ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากครับ จากมึนมาตั้ง พอเข้าใจบ้างแล้วครับ ที่นี้พูดกับใครเค้าจะได้ไม่งงสักกะทีเด้อ

    ReplyDelete